เป็นแม้ค้าขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียนอะไรบ้าง?

ในทุกวันนี้เราไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่าการมีช่องทางขายของออนไลน์ทำให้เกิดพ่อค้า-แม่ค้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ประสบความสำเร็จ ทำเป็นอาชีพหลัก และบางรายที่เป็นพ่อค้า-แม่ค้าที่ทำเล่นๆ หารายได้เสริมจากงานประจำที่ทำอยู่แล้ว แต่ทุกท่านอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่า การจะเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นต้องทำอย่างไร จดทะเบียนอะไรบ้าง หรือต้องเสียภาษียังไง ในบทความนี้เราจะไขข้อสงสัยให้ทุกท่านได้ทราบกัน โดยสิ่งที่พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ต้องทำจะมีดังนี้

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

กิจการแบบไหนบ้างที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ในการจะจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้นั้น เราต้องมาทราบกันก่อนว่าร้านค้าของเราเข้าข่ายที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภทธุรกิจที่ต้องไปดำเนินการ ดังนี้

  • การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการผ่านอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ (ร้านค้าออนไลน์)
  • การให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP)
  • ธุรกิจให้บริการ Web Hosting
  • ธุรกิจแหล่งตัวกลางขายสินค้าและบริการ (E-Marketplace)

ช่องทางการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ในขั้นตอนแรที่จะต้องทำเลยเมื่อเราตัดสินในที่จะเป็นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ที่ถูกต้องและเป็นร้านค้าที่ถูกกำหนดให้ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็คือการขึ้นทะเบียนให้ทางภาครัฐได้ทราบว่าเราจะขายสินค้าทางช่องทางออนไลน์แล้วนะ ซึ่งในการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น เราสามารถลงทะเบียนได้ง่ายๆ 2 ช่องทางก็คือ

  • เดินทางไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในพื้นที่
  • ลงทะเบียนได้ทุกที่ผ่านทาง DBD e-Registration

โดยทั้ง 2 ช่องทางนี้เราสามารถลงทะเบียนได้ด้วยตัวเองหรือผ่านการใช้บริการต่างๆ ได้ง่ายๆ ใช้เวลาไม่นานก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ภายใน 1 วันถ้าหากเราเตรียมตัว เตรียมเอกสารครบถ้วนถูกต้อง

ข้อดีของการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

  • เสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าของเรา

การที่หน้าเว็บไซต์มีสัญลักษณ์ DBD Registration จะช่วยให้ร้านค้าของเราเพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้นได้ เมื่อมีลูกค้าเข้ามายังหน้าเว็บของร้านเราแล้วเห็นสัญลักษณ์นี้ ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือได้มากขึ้น เพราะมีรัฐบาลรับรองการมีอยู่ของร้านค้าออนไลน์ตามกฎหมาย และทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าจากร้านค้าของเราได้อย่ามั่นใจมากยิ่งขึ้น

  • มีช่องทางโปรโมทเว็บไซต์เพิ่มขึ้น

ร้านค้าที่ได้รับการจดทะเบียนพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะนำรายชื่อร้านค้าไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าของเราด้วย และยังเป็นการการันตีว่าร้านค้านั้นผ่านการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้วนั่นเอง

  • สามารถอัพเกรดเป็นเครื่องหมาย DBD Verified ได้

กิจการหรือธุรกิจที่ได้รับการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จะสามารถยื่นขอใช้เครื่องหมาย DBD Verified ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าเครื่องหมาย DBD Registered ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะออกให้เฉพาะร้านค้าที่มีคุณภาพถูกหลักที่กรมกำหนดเท่านั้น

จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการต่าง ๆ ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเราต้องเป็นบริษัทฯ เท่านั้น เราเป็นร้านค้าปกติก็ต้องจดทะเบียนด้วยเมื่อมีรายได้ในปีนั้นเกินกว่า 1.8 ล้านบาทยกเว้นว่าเราจะขายสินค้าที่ได้รับการยกเว้นซึ่งไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง

ช่องทางการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อเราประเมินแล้วว่าร้านค้าออนไลน์ของเรานั้นมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทภายในสิ้นปีแน่ๆ เราในฐานะพ่อค้า-แม่ค้าเงินล้านต้องทำก็คือการเดินทางไปที่กรมสรรพากรในพื้นที่ของเราเอง และเข้าแจ้งกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรว่าต้องการขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยใช้แบบฟอร์มที่มีชื่อเรียนว่า ภ.พ.01 ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะแจ้งกับเราว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างในกรณีที่เป็นร้านค้าออนไลน์ เรามีหน้าที่แค่ส่งเอกสารต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการให้กับเราได้เลย

รูบแบบของภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่มจะถือว่าเป็นภาษีทางอ้อมของพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ เพราะเราจะต้องเรียนเก็บภาษีเพิ่มเติมจากมูลค่าสินค้าที่เราขายให้กับลูกค้าในอัตรา 7% โดยจะเรียกแตกต่างกันทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อว่า

  • สำหรับผู้ขายจะเรียกว่า ภาษีขาย
  • สำหรับผู้ซื้อจะเรียกว่า ภาษีซื้อ

หน้าที่ของร้านค้าเมื่อขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

หน้าที่ของพ่อค้า-แม้ค้าออนไลน์ต้องทำในแต่ละเดือนก็คือการรวมรวมเอกสารที่มีภาษีซื้อและภาษีขายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของเรา ให้กับทางกรมสรรพากรได้รู้ ซึ่งจะต้องสรุปยอดเพื่อนำส่งส่วนต่างระหว่างภาษีซื้อและภาษีขายให้กับทางกรมสรรพากร โดยจะมีอยู่ 3 กรณีคือ

  • ภาษีขาย > ภาษีซื้อ กรณีนี้ในเดือนนั้นๆ เราจะจ่ายส่วนต่างให้กับทางกรมสรรพากร
  • ภาษีขาย < ภาษีซื้อ กรณีนี้ในเดือนนั้นๆ เราจะสามารถเลือกขอคืนส่วนต่างกับทางกรมสรรพากรได้ หรือหากไม่ต้องการขอคืนเพื่อความสะดวกก็สามารถนำส่วนต่างนั้นไปหักลบยอดในเดือนถัดๆ ไปได้ซึ่งเราจะเรียกว่า เครดิตภาษี
  • ภาษีขาย = ภาษีซื้อ กรณีนี้ในเดือนนั้นๆ เราเพียงแค่สรุปยอดให้กับทางกรมสรรพากรเท่านั้น

กำหนดเวลา

พ่อค้า-แม่ค้าอย่างเรามีหน้าที่ต้องยื่นแบบภ.พ. 30 พร้อมชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี) เป็นรายเดือนทุกเดือนภาษีไม่ว่าจะมีการขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม โดยให้ยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปในกรณีนำส่งที่กรมสรรพากรพื้นที่ แต่สำหรับเราที่ทำธุรกรรมออนไลน์เป็นหลักแล้ว การยื่นแบบภ.พ. 30 ผ่านช่องทางออนไลน์จะได้รับสิทธิพิเศษเป็นการขยายเวลาให้อีก 7 วันอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการจะเป็นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ที่ขึ้นทะเบียนพาณิชย์อย่างถูกต้องนั้นไม่ยากเลย เราจึงอยากให้ทุกท่านได้ทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้ถูกต้องเพื่อที่จะได้เป็นเกราะกำบังให้กับเราได้ อย่าให้ความไม่รู้มาเป็นคำที่ถูกใช้มาเล่นงานตัวเอง เพียงเท่านี้การเป็นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ของเราก็สามารถสะบายใจหายห่วงได้ระดับนึงแล้ว

Scroll to Top